วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รู้จัก"ปูเณ่"


ปูเณ่ (Pune) หรือเดิมเรียกกันว่า ปูณาวดี (Punawadi) หรือ ปัญญา-นาการี (Punya-Nagari) หรือ ปูณา (Poona) ตั้งอยู่ในรัฐมหาราษฎร์ (Maharashtra) ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของรัฐ เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับแปดของอินเดีย และเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของรัฐมหาราษฎร์ รองจากเมืองมุมไบ (Mumbai) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ ปัจจุบันปูเณ่กลายเป็นเมืองศูนย์กลางสำคัญทางด้านธุรกิจและการศึกษา

เมืองปูเณ่อยู่ห่างจากมุมไบประมาณ 160 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนที่ราบสูงเดคกัน ในระดับความสูง 560 เมตรจากระดับน้ำทะเล อยู่ในบริเวณที่บรรจบกับของแม่น้ำ มูลา (Mula) และ มุธา (Mutha)

ภูมิอากาศที่เมืองปูเณ่ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ย 30 - 38 °C เดือนที่ร้อนที่สุดคือ เดือนเมษายน ฤดูฝนหรือมรสุม เริ่มจากเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 10 °C - 28 °C เดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่ฝนตกมากที่สุด ส่วนฤดูหนาวเริ่มในเดือนพฤศจิกายน อุณหภูมิในช่วงกลางวันราว  28 °C และกลางคืนอุณหภูมิต่ำกว่า 10 °C  โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมและมกราคม อาจต่ำถึง 5 หรือ 6 °C

เมืองปูเณ่ มีชื่อปรากฏอยู่ในฐานะเมืองตั้งแต่ ค.ศ. 937 ชีวะจิ ราเช (Shivaji Raje) ผู้สถาปนาจักรวรรดิมาราธะ (Maratha Empire) เคยประทับอยู่ในเมืองปูเณ่ในขณะยังเล็ก เมืองปูเณ่กลายมาเป็นศูนย์กลางสำคัญทางการเมือง ในฐานะที่เป็นเมืองของ เปชวา (Peshwa) มหาเสนาบดีของ ฉัตรปาตี (Chhatrapati) แห่ง สัตระ (Satara) จากนั้นเมืองก็ถูกผนวกเข้ากับอาณานิคมอังกฤษในปี 1817

ปูเณ่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในด้านของการศึกษา มีสถาบันการศึกษามากกว่าร้อยแห่ง และมหาวิทยาลัย 9 แห่ง มีอุตสาหกรรมการผลิตมากมายทั้งด้าน กระจก น้ำตาล และเหล็ก มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950-60s มีอุตสาหกรรมหลายแห่งกำลังเติบโต รวมทั้งเทคโนโลยีด้านข่าวสาร นอกจากนั้นปูเณ่ยังมีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ดนตรีคลาสสิค กีฬา วรรณกรรม การเรียนภาษาต่างประเทศ การศึกษาทางด้านการบริหาร เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นต้น โอกาสทางด้านการงานและการศึกษาคือสิ่งดึงดูดใจผู้คนและนักศึกษาจากทั่วอินเดีย รวมทั้งต่างชาติ เช่น ตะวันออกกลาง อิหร่าน ยุโรปตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เมืองปูเณ่มีความหลากหลายทั้งทางด้านชุมชนและวัฒนธรรม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น