วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ซาลวาร์ กูรตะ (Salwar Kurta) ปัญจาบีสูท (Punjabi suit) หรือ ซาลวาร์ กามีซ (salwar kameez) อีกแบบของชุดประจำชาติอินเดีย


ซาลวาร์ กูรตะ (Salwar Kurta) หรือ ปัญจาบีสูท (Punjabi suit) หรือบ้างก็เรียก ซาลวาร์ กามีซ (salwar kameez) เป็นชุดที่สตรีนิยมสวมใส่ รวมถึงผู้ชายบางคนด้วย ทั้งในอินเดีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน เครื่องแต่งกายแบบนี้เป็นที่นิยมมาตั้งแต่ยุคของจักรวรรดิโมกุล ตั้งแต่ ค.ศ. 1500-1700 เป็นที่นิยมใส่ในรัฐปัญจาบ แต่ปัจจุบันสวมใส่ทั่วอินเดีย ในฐานะชุดประจำชาติของสตรีอีกแบบของอินเดียนอกเหนือจากส่าหรี

india-punjabi-01ซาลวาร์ กูรตะ ประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่ ตัวเสื้อคล้ายเสื้อคลุม มีแขนยาว สวมทับกางเกงแบบหลวม ร่วมกับผ้าคล้องคอผืนยาวมักใช้พันรอบคอ ซึ่งเป็นของคู่กัน

ซาลวาร์ (salwar) เป็นส่วนของกางเกงแบบหลวมๆ  ขาส่วนบนกว้าง แต่ส่วนล่างสอบแคบถึงข้อเท้า  จีบที่ขาหรือรอบเอวมีสายคาดรัดเอว มีความสะดวกในการสวมใส่ เพราะส่วนขาไม่รัดมาก เดินได้สะดวก

กูรตะ (Kurta) หรือเรียกอีกอย่างว่า (kameez) เป็นเสื้อตัวยาวคลุมถึงเข่า ใส่สวมทับ ซาลวาร์ เสื้อตัวยาวนี้ผ่าด้านข้าง เปิดตะเข็บสองข้างตั้งแต่ช่วงสะดือลงมา ทำให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกสบาย ช่างที่มีฝือมือจะดูกันที่ลวดลายคอเสื้อและการตกแต่งตัวเสื้อ กูรตะแบบดั้งเดิมต้องยาวถึงเข่า แต่ปัจจุบันแบบสั้นก็มีให้เห็นโดยทั่วไป

ดูปัตตะ (Dupatta) ส่วนของผ้ายาวที่ใช้คล้องคอหรือพันคอรวมทั้งใช้คลุมศีรษะได้ด้วย ซึ่งสตรีอินเดียก็เคยใช้ผ้าคลุมศีรษะมาแต่ในอดีต และก็ค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่น ปัจจุบัน ดูปัตตะ เป็นส่วนเพิ่มเติมที่ใช้คล้องคอ คล้องบ่า

ชุดปัญจาบี การออกแบบมีหลากหลายตั้งแต่เรียบง่ายจนถึงซับซ้อน ส่วนการตัดเย็บ ทำด้วยผ้าที่หลากหลาย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม เป็นต้น ผ้าที่ใช้อาจเป็นสีพื้นเรียบ อาจเป็นผ้าพิมพ์หรือปักเป็นลาย ส่วนใหญ่มักเป็นลายสัญลักษณ์ ที่ใช้ปกป้องวิญญาณชั่วร้ายที่อาจทำร้ายผู้สวมใส่ได้
india-punjabi-02


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น