Diwali (ดิวาลี) หมายถึง แถวหรือแนวของตะเกียงไฟ (rows of lighted lamps) ดังนั้น Diwali จึงเป็นเทศกาลแห่งแสงไฟและความรื่นเริง เพื่อต้อนรับปีใหม่ของชาวฮินดู อีกทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของคุณงามความดีที่มีต่อความชั่วร้าย และแสงสว่างที่อยู่เหนือความมืดมน ยังแสดงถึงการเริ่มต้นฤดูหนาวอีกด้วย จริงๆ แล้ว Diwali นั้นเป็นการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นเกียรติแด่ พระราม และ นางสีดา พระมเหสี ในการเสด็จกลับมาสู่พระนคร อโยธยา (Ayodhya) ตามความเชื่อของชาวฮินดู
การเริ่มต้นเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อยู่ในช่วงเดือนตุลาคม หรือเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินจันทรคติ และเฉลิมฉลองต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน ในแต่ละวันของการเฉลิมฉลองก็จะมีความหมายแตกต่างกันออกไป วันแรก เริ่มต้นด้วยการบูชาพระลักษมี ตามวัฒนธรรมอินเดีย เชื่อว่าบุคคลผู้มั่งคั่งพิจารณาว่าเป็นผลบุญจากการกระทำในอดีตที่เรียกว่า "กรรม" ในวันที่ 2 ของเทศกาลมีการบูชา พระแม่กาลี เทพีแห่งความแข็งแกร่ง
วันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายแห่งปีนี้ ตามปฏิทินจันทรคติ และถือเป็นวันที่สำคัญมาก มีการจุดตะเกียงให้สว่างไสวไปทั่วบ้านเรือน ซึ่งตะเกียงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้ ส่วนในวันที่ 4 เป็นวันแรกของปีใหม่ทางจันทรคติ ในวันนี้ร้านค้าต่างๆ มีสินค้าใหม่ๆ มานำเสนอในราคาพิเศษ และในวันที่ 5 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาล พี่ชายหรือน้องชาย และพี่สาวหรือน้องสาวจะมารวมตัวกัน แบ่งปันอาหารทานร่วมกัน เพื่อแสดงถึงความเคารพนับถือและผูกพันกันระหว่างพี่น้อง
ในระหว่างเทศกาล Diwali ชาวอินเดียจะทำความสะอาดบ้านเรือน ตกแต่งประดับประดาบ้านให้สวยงามเพื่อต้อนรับปีใหม่ และเปิดหน้าต่าง เพื่อต้อนรับพระลักษมี เทพธิดาแห่งความมั่งคั่ง มีการจุดตะเกียง หรือดวงไฟให้สว่างไสวไปทั่วบ้านเรือน เพื่อต้อนรับพระองค์ มีการสวมใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ และซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ๆ ให้กับสมาชิกในครอบครัว มีการแลกเปลี่ยนของขวัญ ขนมหวาน อาหารต่างๆ นานา ตระเตรียมขึ้นไว้เพื่อเฉลิมฉลอง และเพราะความหลากหลายด้านวรรณนะและภูมิภาคทำให้การปฏิบัติตามประเพณีนี้มีความแตกต่างกัน
ในศาสนาเชนก็มีการเฉลิมฉลอง Diwali กัน ถือว่าพระมหาวีระ (Mahavira) ผู้ก่อตั้งศาสนาเชน ปรินิพพานในช่วง Diwali พอดี ในศาสนาซิกซ์ ก็เฉลิมฉลอง Diwali เพื่อแสดงความยินดีในการกลับมาสู่ Amritsar ในปี 1620 ของ คุรุ ลำดับที่ 6 ซึ่งจักรพรรดิ Jahangir ได้กักขังท่านไว้พร้อมกับกษัตริย์ของฮินดูอีก 52 พระองค์
Diwali ถือว่าเป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองอย่างกระตือรือร้นสนุกสนานกันมากที่สุดในอินเดีย ผู้คนจากต่างสัญชาติ ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และภูมิหลัง มารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความสุข ภารดรภาพ และความกลมเกลียวกันของคนจากต่างเชื้อชาติศาสนา ทั้งชาวฮินดู ซิกซ์ เชน และแม้แต่ชาวพุทธ ทั่วโลกก็ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ด้วยกัน โดยลึกๆ แล้วดีวาลี มีความหมายทางด้านสังคมมากกว่าด้านศาสนาเสียอีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น