วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

พระเจ้าอักบาร์มหาราช จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์โมกุล


ยุคสมัยของพระเจ้าอักบาร์มหาราช (Akbar the Great) ถือได้ว่าเป็นช่วงที่รุ่งเรืองมากที่สุดของจักรวรรดิโมกุล ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะยังทรงพระเยาว์ 13 พระชันษา ในปี ค.ศ. 1556 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดา พระเจ้าฮุมายัน (Humayun) ทรงแผ่ขยายอาณาจักรไปไกลทางด้านตะวันตกถึงอัฟกานิสถาน และทางใต้ถึงแม่น้ำโกดาวารี (Godavar) ภายใต้การชี้แนะของไบรามข่าน (Bairam Khan) พระเจ้าอักบาร์ทรงยึดดินแดนได้ทั่วฮินดูสถาน และท้ายที่สุดได้ครอบครองดินแดนเกือบจะทั่วภาคเหนือของอินเดียและอัฟกานิสถาน



รัชสมัยของพระเจ้าอักบาร์ยังถือได้ว่าเป็นยุคเรเนสซองของวรรณกรรมเปอร์เชีย สถาปัตยกรรมแบบโมกุลแผ่ขยายไปภายใต้การปกครองของพระองค์ พระเจ้าอักบาร์ทรงมีพระดำริให้สร้างเมืองหลวงใหม่บนสันเขาสิครี (Sikri) ใกล้เมืองอักรา (Agra) เมืองแห่งนี้ได้ชื่อว่า ฟาเตห์ปุระ (Fatehpur) เพื่อรำลึกถึงชัยชนะของพระองค์ที่มีต่อแคว้นคุชราต (Gujarat) ในปี ค.ศ. 1572 และสิ่งก่อสร้างที่น่าประทับใจมากที่สุดในเมืองหลวงใหม่นี้คือ มัสยิดหลวงจาเมีย (the grand Jamia Masjid)

ทรงแต่งตั้งขุนนางและข้าราชการต่างๆ ในสมัยโมกุลโดยปราศจากอคติทางด้านศาสนา ยังทรงเป็นผู้อุปถัมภ์สำคัญในงานวรรณกรรมและนักปราชญ์ราชบัณฑิตต่างๆ ราชสำนักของพระองค์มีกลุ่มนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันในชื่อ อัญมณีทั้งเก้า มณีนพเก้า หรือ นวรัตนะ (Nava Ratna)

แต่เชื่อหรือไม่ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ิยิ่งใหญ่พระองค์เดียวในราชวงศ์โมกุลที่ไม่ทรงรู้หนังสือ แ่ต่กลับทรงกระหายความรู้ต่างๆ ยิ่งนัก ทรงเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ โดยมีผู้ช่วยอ่านหนังสือให้ ดังนั้นแม้จะไม่รู้หนังสือ แต่พระเจ้าอักบาร์ทรงเป็นผู้รอบรู้เท่าเทียมกับปราชญ์ผู้คงแก่เรียนมากที่สุดทั้งหลายในยุคนั้น

พระเจ้าอักบาร์แม้จะทรงเป็นมุสลิม แต่ก็ทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกครองที่ใจกว้าง ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชน และทรงริเริ่มความศาสนาใหม่ที่เรียกว่า ดินอิอิลาฮี (Din-i-Ilahi) หรือ ศาสนาแห่งพระเจ้า (The Religion of God) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะรวมศาสนาอิสลามเข้ากับ ฮินดู คริสต์ เชน และศาสนาอื่นๆ

พระองค์ไม่เพียงแต่ได้ชัยชนะทางการทหารเท่านั้น ยังได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากชาวฮินดูที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ ทรงชนะใจชาวฮินดูโดยการให้ตำแหน่งสำคัญทางการทหารและพลเรือน โดยการให้เกียรติอย่างเป็นทางการ และโดยการแต่งงานกับเจ้าหญิงฮินดู กล่าวกันว่าทรงมีมเหสีมากกว่า 4000 องค์

พระเจ้าอักบาร์ทรงมีพระโอรส 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายซาลิม เจ้าชายมูรัด และเจ้าชายดานิยาล เจ้าชายเจ้าชายมูรัด และเจ้าชายดานิยาลสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่พระเจ้าอักบาร์ก็ทรงต้องเผชิญปัญหากับเจ้าชายซาลิม และในช่วง 4 ปีสุดท้ายในพระชนมชีพของพระองค์หมดเปลืองไปกับการปราบปรามการก่อการกบฏของเจ้าชายซาลิม

พระเจ้าอักบาร์ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์จากยาพิษใน วันที่ 27 เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1605 พร้อมทั้งการสิ้นสุดยุคสมัยที่รุ่งเรืองมากที่สุดของประวัติศาสตร์อินเดีย

Picture courtesy:

http://www.badassoftheweek.com/akbar.html

Information courtesy:

http://www.famous-india.com/people-in-india/akbar.html
http://www.writespirit.net/authors/akbar

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น