วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

นวราตรี (Navratri) เทศกาลบูชาพระแม่ทุรคา


นวราตรี (Navratri, Navaratri, หรือ Navarathri) เป็นเทศกาลแห่งการบูชาและการเต้นรำ ในภาษาสันสกฤตคำว่า นว (nava) หมายถึง เก้า และ ราตรี (ratri) หมายถึง กลางคืน จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า “เก้าคืน” ซึ่งในช่วง “เก้าคืน” นี้จะมีการบูชาพระแม่ทุรคา (Durga) หรือศักติ (Shakti) ซึ่งหมายถึง พลังหรืออำนาจ ในเก้ารูปแบบ


โดยเทศกาลนี้จะจัดขึ้นสองครั้งต่อปี ในช่วงต้นฤดูร้อน และต้นฤดูหนาว ในช่วงฤดูหนาวนี้ตรงกับเดือนอัศวิน (Ashwin) ตามปฏิทินฮินดู

เทวีทุรคา หรือที่นิยมเรียกว่า พระแม่ทุรคา เป็นเทวีแห่งความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง และสุขภาพดี พระนางเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระแม่ปารวตี มเหสีของพระศิวะ ตามตำนานเทพเจ้าฮินดู กล่าวถึงการปราบ มหิงสาสูร ซึ่งเป็นอสูรที่ทรงอำนาจมากจนไม่มีเทพเจ้าองค์ใดทำลายลงได้ ดังนั้นบรรดาทวยเทพต่างๆ จึงได้ไปเข้าเฝ้าพระนางทุรคาขอให้ทรงช่วย และเทพต่างๆ เหล่านั้น ก็มอบอาวุธที่ทรงอำนาจให้กับพระนาง เมื่อมีอาวุธครบครัน พระนางก็สามารถปราบอสูรร้ายลงได้ และสถานที่ที่มหิงสาสูรสิ้นชีพนั้น เดิมคือเมือง มหิศปุระ (Mahishpur) ปัจจุบันคือ เมืองไมซอร์ (Mysore) ชาวไมซอร์จึงมีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่สนุกสนาน

โดยในการบูชาศักตินี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ในช่วงสามวันแรกจะเป็นพิธีปลุกพระแม่ทุรคา เทวีแห่งพลังอำนาจขึ้นมา เพื่อมากำจัดสิ่งเลวร้ายไม่บริสุทธิ์ต่างๆ จากนั้นเทวีที่ได้รับการบูชาต่อมาคือ พระแม่ลักษมี (Lakshmi) ผู้ที่จะมอบความมั่งคั่งให้กับผู้ที่บูชา และในช่วงสามวันสุดท้ายเป็นการชูชา พระแม่สรัสวตี (Saraswati) เทวีแห่งสติปัญญา ชาวฮินดูเชื่อว่า เพื่อที่จะได้รับพรครบในทุกด้าน จำเป็นที่จะต้องบูชาพระแม่ทั้งสามพระองค์ต่อเนื่องกัน 9 วัน

รูปบูชาของพระแม่จะถูกนำมาวางไว้ที่บ้านและที่วัดตลอดทั้งเก้าวันที่เฉลิมฉลอง มีการถวายผลไม้ ดอกไม้ ขนมหวาน แด่รูปเทวี และร้องเพลงสวดบาจัน (bhajans) เพื่อสรรเสริญพระนาง ในวันสุดท้ายของเทศกาลนี้จะมีขบวนแห่นำรูปเคารพไปจมลงในแม่น้ำใกล้เคียง

ในอินเดียมีการเฉลิมฉลองเทศกาลนวราตรีทั่วทั้งอินเดีย แต่อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค นอกจากการบูชาเทวีแ้ล้วชาวฮินดูยังฉลองด้วยการเต้นดันดิยาราส (Dandiya-raas) หรือรำกระทบไม้ โดยถือไม้สั้นๆ คนละคู่ ตีกระทบกันเป็นวง วนไปวนมา แม้ดูแล้วไม่มีท่าเต้นอะไร แต่คนเล่นเขาก็สนุกสนานกันมาก ซึ่งการเต้นนี้ก็อาจแตกต่างกันไปตามความนิยมในแต่ละที่

เทศกาลนี้ยังถือเป็นโอกาสที่ดีและเป็นมงคลสำหรับครอบครัวและเพื่อนๆ ที่จะมาพบปะอวยพร และสังสรรค์กัน ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่เป็นมงคลและดีที่สุดที่จะเริ่มการลงทุนด้านธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย

Information courtesy:
http://www.indiafolks.com/history-and-culture/indian-festivals/
http://en.wikipedia.org/wiki/Navratri

Picture courtesy:
http://www.indiaplaces.com/indian-festivals/navratri.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น